วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

ประวัติ สถานีขนส่งเชียงใหม่ อาเขต 3

ประวัติ สถานีขนส่งเชียงใหม่ อาเขต 3







 

                   สืบเนื่องจากกรมการขนส่งทางบก ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553-2554 ตามวัตถุประสงค์ของแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2) เพื่อใช้ในการก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 3 เป็นจำนวนเงิน 182,186,280 บาท นั้น
                   จังหวัดเชียงใหม่ได้รายงานผลการจัดหาที่ดินสำหรับก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสาร ของคณะกรรมการจัดหาที่ดินสำหรับก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 3 ให้กรมการขนส่งทางบกทราบ ซึ่งทางกรมการขนส่งทางบกได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 19/2552 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552 ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติให้กำหนดสถานที่ในการจัดสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 3 บนโฉนดเลขที่ 81 และ เลขที่ 21982-22003 ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 56 ตารางวา (ติดกับสถานีขนส่งอาเขตเดิม) ตามความในมาตรา 19(8) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2552 และอนุมัติให้กรมการขนส่งทางบกจัดให้มีสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่แห่งที่ 3 โดยกรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ดำเนินการสถานีขนส่งเอง ตามความในมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2552
                    โดยผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างครั้งนี้คือ บริษัท ลิงค์ อินโนว่า พรอพเพอร์ตี้ จำกัด รับว่าจ้างในการก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน 50,388,888 บาท ตามสัญญาจ้างเหมา เลขที่ คค 0408/2077/2553 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 31 พฤษภาคม 2554 รวมระยะเวลาการก่อสร้างทั้งหมด 390 วัน มีคณะกรรมการตรวจการจ้างประกอบด้วย 1.ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานกรรมการ 2.นายวิชัย ขจรปรีดานันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ 3.นายชัยยุทธ์ เขียวเล็ก นายช่างตรวจสภาพรถชำนาญงาน สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ และ 4.นายชัชวาล วงศ์ศรีวัฒนากุล วิศวกรโยธาปฏิบัติการ กลุ่มออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง เป็นกรรมการร่วม ขณะที่นายสุพจน์ จิตไพโรจน์ นายช่างโยธาอาวุโส สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าผู้ควบคุมงาน และนายสมนึก หาสาตร์สิน นักวิชาการขนส่งชำนาญการ สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ควบคุมงาน
                   สำหรับรูปแบบการก่อสร้างเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารรูปแบบใหม่ จำนวน 2 ชั้น ที่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศทั้งอาคาร นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งบันไดเลื่อน ติดตั้ง CCTV ทั้งภายในและภายนอกตัวอาคาร มีระบบสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ ทีวีแสดงเที่ยวเวลาการเดินทาง เหมือนกับท่าอากาศยานสากลด้วย
นายชาญชัย กีฬาแปง ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างสถานีขนส่งฯ แห่งที่ 3 ครั้งนี้ว่า สืบเนื่องจากกรมการขนส่งทางบก ได้พิจารณาเห็นว่าสถานีขนส่งในจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันซึ่งมีอยู่แล้ว 2 แห่ง คือสถานีขนส่งช้างเผือก และสถานีขนส่งอาเขต โดยเฉพาะสถานีขนส่งอาเขตนั้น ก่อสร้างมานานร่วม 30 ปีแล้ว จึงมีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม ที่สำคัญพื้นที่ในสถานีฯ เริ่มคับแคบลง เนื่องจากความเจริญเติบโตทุกด้านของเมืองเชียงใหม่ เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของประชากร ประกอบกับระยะหลัง เริ่มมีการเพิ่มรถโดยสารขึ้นมาหลายเส้นทาง ทำให้ปริมาณรถโดยสารทั้งสายหลัก และรถร่วมที่เข้าสู่สถานีฯ มีมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาล จะเกิดความแออัดมาก มีปัญหาด้านการจราจร และผู้โดยสารที่มาใช้บริการไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร ดังนั้นกรมการขนส่งทางบกจึงได้ขออนุมัติ จัดสร้างสถานีขนส่งฯแห่งที่ 3 ขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งโดยใช้พื้นที่ติดกับสถานีขนส่งอาเขตเดิม (แห่งเดิม) ทั้งนี้เพื่อความสะดวก และไม่เป็นภาระกับพี่น้องประชาชน ในการเดินทางไปจังหวัดต่าง ๆ ในกรณีใช้บริการจากสถานีขนส่งแห่งเดิมด้วย
                  โดยกรมการขนส่งทางบก ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งฯ จำนวนประมาณ 182 ล้านบาท แบ่งเป็นงบซื้อที่ดินจำนวน 131 ล้านบาทเศษ และงบก่อสร้างอาคารสถานี พร้อมชานชาลากับลานจอดรถอีกประมาณ 50 ล้านบาท
ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้การก่อสร้างสถานีฯแห่งใหม่ มีความคืบหน้าไปมากกว่า 50 เปอร์เซนต์แล้ว ตามสัญญาการก่อสร้างเดิมจะครบกำหนดในช่วงสิ้นเดือน พฤษภาคม 2554 แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งล่าสุดทางบริษัท ลิงค์ อินโนว่า พรอพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้รับเหมาได้ทำเรื่องขอขยายเวลาไปยัง ครม. ก็ได้รับอนุมัติให้มีการขยายเวลาออกไปได้อีก 45 วัน จากผลดังกล่าวคาดว่าจะทำให้การก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ประมาณ กลางเดือนกรกฎาคม 2554
               “สถานีขนส่งแห่งใหม่นี้ ถือว่าเป็นสถานีขนส่งแห่งแรกในภูมิภาคของประเทศไทย ที่มีการสร้างแบบสองชั้น และมีระบบปรับอากาศทั้งอาคาร มีบันไดเลื่อนบริการผู้โดยสาร รวมทั้งมีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดทั้งภายในและนอกอาคาร นอกจากนี้ยังมีระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีจอแอลซีดี แสดงตารางการเดินรถ ขาเข้า-ขาออก เหมือนกับท่าอากาศยานนานาชาติด้วย ซึ่งถือว่าชาวเชียงใหม่โชคดีมาก ๆ ที่จะมีสถานีขนส่งที่ทันสมัยแบบนี้ ก็ต้องขอขอบคุณท่านอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการสถานีแห่งนี้ ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น”
                สำหรับหน่วยงานที่จะเข้าไปดูแลสถานีขนส่งฯ แห่งที่ 3 นั้น ตามระเบียบของกฎหมายแล้วจะต้องมีการถ่ายโอนการบริหารให้กับท้องถิ่น (เทศบาลนครเชียงใหม่) ดังเช่นที่ผ่านมาได้มีการถ่ายโอน สถานีขนส่งช้างเผือก และสถานีอาเขตเดิม ให้กับทางเทศบาลนครเชียงใหม่ไปดูแล แต่สถานีขนส่งฯแห่งใหม่นี้ทางสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ได้ประสานไปยังเทศบาลฯ ว่าเพื่อให้การบริหารจัดการสถานีขนส่งแห่งใหม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยในช่วงเริ่มแรก ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่จะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด จากนั้นก็จะมีการถ่ายโอนการบริหารให้กับทางเทศบาลฯ ในลำดับต่อไป ซึ่งทางผู้บริหารเทศบาล ก็ไม่ขัดข้อง แต่อย่างไรก็ตามจะต้องมีการประชุมหารือกันทั้งสองฝ่ายอย่างใกล้ชิดเพื่อทำงานร่วมกันต่อไป
                ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า แม้จะมีสถานีขนส่งแห่งใหม่เกิดขึ้นแล้ว ในส่วนของสถานีขนส่งสองแห่งเดิม (ช้างเผือกและอาเขต) ก็จะต้องมีการจัดระเบียบ บริหารจัดการในส่วนของการกระจายรถให้มีความพอดีกับพื้นที่ ซึ่งสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการวางแผน รถที่เข้ามาใช้สถานีในแต่ละเส้นทางแล้วบางส่วน ซึ่งก็จะได้มีการหารือร่วมกับทางเทศบาล และผู้ประกอบการเดินรถ ให้มีความเข้าใจตรงกันอีกครั้ง เบื้องต้นกำหนดไว้ว่า สถานีฯ ช้างเผือก จะใช้สำหรับรถที่วิ่งบริการผู้โดยสาร จากเชียงใหม่ไปต่างอำเภอ โดยจะเป็นรถสองแถวทั้งหมด นอกจากนี้จะมีการกำหนดเส้นทางรถสองแถว(สี่ล้อแดง) เพิ่มขึ้นอีก 3 เส้นทาง มีต้นทางที่สถานีฯ ช้างเผือกเพื่อชดเชยรถเมล์บัสที่ย้ายออกด้วย ส่วนรถบัสประจำทางไปต่างอำเภอ ต่างจังหวัด (ไม่ปรับอากาศ) รวมทั้งรถ บขส. จะใช้สถานีขนส่งอาเขตเดิม สำหรับสถานีขนส่งแห่งใหม่ จะเป็นรถปรับอากาศทั้งหมด เมื่อเป็นดังนี้แล้วก็จะทำให้การใช้พื้นที่สถานีขนส่งทุกแห่งเป็นไปอย่างความคุ้มค่ามากขึ้น
                จากการที่เรามีสถานีขนส่งแห่งใหม่นี้ มั่นใจว่าจะเป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจให้กับผู้โดยสาร โดยเฉพาะชาวต่างจังหวัด ถือว่าสถานีแห่งนี้เป็นประตูบ้าน ประตูเมืองในการต้อนรับประชาชนนักท่องเที่ยว ที่จะมาเยือนจังหวัดเชียงใหม่ ตามนโยบายของ มล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลายปีนี้ ระหว่างเดือน พฤศจิกายน 2554 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้รับเกียรติ เป็นเจ้าภาพในการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ครั้งที่ 2 ซึ่งสถานีขนส่งแห่งใหม่นี้ ก็จะพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวได้พอดี เชื่อว่าทุกคนจะประทับใจอย่างแน่นอน นอกจากนี้ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สถานีแห่งนี้เกิดประโยชน์ สร้างความเจริญให้กับเมืองเชียงใหม่ และอยู่คู่กับพี่น้องประชาชนตลอดไป


             ใครไป ใครมา ถ้าไม่ใช้รถส่วนตัว จุดแรกและจุดสุดท้ายในการมาเชียงใหม่ ส่วนมากก็ไม่พ้นสถานีขนส่งอาเขต หรือชาวเชียงใหม่ เรียกว่า "อาเขต" เฉยๆ เคยสงสัยกันบ้างมั๊ยคะ ว่าทำไม สถานีขนส่งเชียงใหม่ ถึงเรียกกว่า "อาเขต" เราก็สงสัย เก๊าะเลยไปหาข้อมูลมา เค้าบอกว่า เมื่อก่อน ย่านนั้นเป็นโครงการศูนย์การค้าอาเขต เต็มไปด้วยสถานบันเทิงสำหรับชาวเชียงใหม่ ทั้งลานสเก็ต ดิสโก้เธค ศูนย์การค้า และโรงแรมอาเขต เพื่อรองรับกับสถานีขนส่งใหม่(ในสมัยนั้น) ที่แยกมาจากขนส่งเก่าที่ช้างเผือก ชาวบ้านเลยเรียกสถานีขนส่งแห่งที่ 2 ว่า "สถานีขนส่งอาเขต" เพื่อให้ระบุว่าเป็นสถานีขนส่งแห่งไหน ต่อมาก็เลยเรียกกันสั้นๆ ว่า "อาเขต" เฉยๆ เพื่อง่ายต่อการพูดจ้า



                                อีกฝั่งเป็นคิวของรถสี่ล้อแดงจ้า ราคาถูกกว่าแท็กซี่ เขาจะแบ่งรถที่จอด เขาจะมีระบบจัดการคิวเขาเป็นพิเศษจ้า  โดยแบ่งคิวเป็น 2 คิว คิวใหญ่ คิวเล็ก ทั้ง ฝั่ง อาเขต 2 และ อาเขต 3

                            1. คิวใหญ่ จะมีรถสี่ล้อแดง (สองแถว) ประจำ ณ.จุดจอดรับผู้โดยสาร จำนวน 2 คัน คันที่ 1 และ คันที่ 2 จะตามลำดับคิว จะรับผู้โดยสารตามกำหนด ได้เกิน 10 คน หรือน้อยกว่านั้น แล้วแต่เจ้าของคิวนั้น
รถสี่ล้อแดง ถึงจะวิ่งออกจากคิวไปส่งผู้โดยสารตามที่กำหนด ในเส้นทาง คนละ 20 บาท
                        
                            2. คิวเล็ก จะมีรถสี่ล้อแดง (สองแถว) ประจำ ณ.จุดจอดรับผู้โดยสาร จำนวน 3 คัน เรียงตาม
ลำดับคิวที่ถูกเรียกให้ประจำตามหมายเลขที่อยู่ในบริเวณขณะนั้น หากมีผู้โดยสาร จำนวน 4-5 คน เมื่อคิวใหญ่ไม่
ออก คิวเล็กที่เป็นหมายเลขนำหน้า จะต้องออกไปส่งผู้โดยสารตามที่กำหนด เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารรอนานครับ

 
 
                             มีศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะอยู่ด้วย ทำให้ผู้โดยสารรู้สึกปลอดภัยกับการเดินทางจริงๆ
ตอนนี้สถานีขนส่งแห่งที่ 3 ได้เปิดให้บริการแล้วนะคะ สามารถไปใช้บริการได้ทั้ง 2 ที่เลยค่ะ แต่ช่วงดึกๆ ที่เก่าจะไม่เปิดแล้ว ให้ไปใช้ที่ใหม่ได้เลยนะคะ มีบริการถึง 4 ทุ่มเลยค่ะ หลังจากนี้ที่นี่น่าจะมีการปรับปรุงหลายๆ อย่างให้ดีขึ้น เพื่อให้ทันสมัยและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารได้อย่างทั่วถึง ทีนี้ชาวเชียงใหม่ ก็ไม่ต้องอายใครแล้ว ว่าจุดแรกที่นักท่องเที่ยวมาเห็นเป็นอาคารเก่า ทรุดโทรมนะคะ เย่ๆๆๆ
 
 
 
 



                    





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น